Clarifier System ระบบตกตะกอน
Clarifier หรือ Sedimentation
การตกตะกอนเป็นวิธีการแยกตะกอนแขวนลอยออกจากน้ำเสีย โดยอาศัยการจมตัวลงของตะกอนแขวนลอยที่มีค่าความถ่วงจำเพาะ(Specific Gravity : S.G.)ของตะกอนสูงกว่าน้ำ ในระบบบำบัดน้ำเสียมักมีถังตกตะกอน 2 ชนิด คือ ถังตกตะกอนที่ทำหน้าที่แยกตะกอนต่างๆ ออกจากน้ำเสียก่อนที่จะไหลลงถังบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีชีวภาพ นิยมเรียกว่า ถังตกตะกอนแรก (Primary Sedimentation Tank) และ ถังตกตะกอนอีกชนิด คือ ถังตกตะกอนที่ใช้แยกตะกอนชีวภาพ หรือ ตะกอนเคมีออกจากน้ำเพื่อให้ได้น้ำใสสะอาด นิยมเรียกว่า ถังตกตะกอนที่สอง (Secondary Sedimentation Tank)
ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการออกแบบเลือกใช้ถังตกตะกอน มีดังนี้
-
อัตราการไหลเข้าของน้ำเสีย
-
อุณหภูมิและความดันของบรรยากาศรอบบริเวณที่ตั้ง
-
ปริมาณและลักษณะของตะกอนในน้ำเสีย
-
ลักษณะน้ำเสีย
-
พื้นที่ผิวบนของถังตกตะกอน
-
ความลึกของถังตกตะกอน
-
คุณภาพน้ำที่ไหลล้นออกจากถัง
-
กระบวนการบำบัดน้ำเสีย
-
ราคาค่าก่อสร้าง
ถังตกตะกอนสามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
-
ถังสี่เหลี่ยมผืนผ้า
-
ถังสี่เหลี่ยมจัตุรัส
-
ถังทรงกลม
-
ถังที่มีแผ่นเอียงติดตั้ง
ถังสี่เหลี่ยมผืนผ้า
มักจะมีพื้นลาดเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้เครื่องกรวดตะกอนที่ก้นถังทำหน้าที่กวาดตะกอนลงมาที่หลุม หรือบางแบบวิศวกรจะออกแบบให้มีพื้นก้นถังเป็นแบบหลุมๆ ตลอดทั่วทั้งถัง ทำให้ไม่ต้องใช้เครื่องกวาดตะกอน เพราะตะกอนจะตกลงมาทุกๆ หลุมกระจ่ายไปทั่วพื้นก้นถัง ทำให้การสูบตะกอนเป็นได้ง่าย โดยทั่วไป ขนาดความยาว : ความกว้าง ประมาณ 3:1 ของถังหรือมากกว่า ขนาดความกว้าง : ความลึกของถัง ประมาณ 1 - 2.25 : 1 และความลึก ประมาณ 2.4-3 ม. และ 3-3.6 ม. สำหรับถังตกตะกอนแรก และสองตามลำดับ
ถังสี่เหลี่ยมจัตุรัส
มีลักษณะคล้ายกับถังกลม แต่บริเวณมุมถังเป็นข้อด้อยกว่าถังกลม เพราะตะกอนอาจไปตกอยู่ที่มุมขอบถัง แต่มีข้อดีคือ ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างน้อยกว่าถังกลม ถ้าขนาดพื้นที่เป็นข้อจำกัดในการออกแบบโดยทั่วไปถังแบบนี้จะมีขนาดความลึกเท่ากับ 3-5ม. กว้าง 3-50 ม.
ถังกลม
เป็นถังที่นิยมใช้กันมาก เพราะจะไม่มีตะกอนตกค้างบริเวณรอบถัง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 3-60ม. ความลึก 2-3 ม. และ 3-4ม. สำหรับถังตกตะกอนแรก และสอง ตามลำดับ ความลาดเอียงของพื้นก้นถังควรมีประมาณ 1:12 โดยจำเป็นต้องมีเครื่องกวาดตะกอนบริเวณพื้นก้นถัง
แผ่นเอียงช่วยตกตะกอน (Tube Settler)
ถังตกตะกอนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการตกตะกอนด้วยการติดตั้งแผ่นเอียงช่วยตกตะกอน (Tube Settler) โดยจะทำมุม 60 องศากับแนวนอน เพื่อให้ตะกอนไม่ค้างอยู่ในแผ่น หลักการทำงานของแผ่นเอียงช่วยตกตะกอน ระบบจะทำการป้อนน้ำไหลขึ้นซึ่งจะมีความหนืดสูงขึ้น ส่งผลให้การไหลของน้ำภายในถังสงบกว่าถังตกตะกอนที่ไม่มีการติดตั้งแผ่นเอียงช่วยตกตะกอน และอีกข้อคือ ต้องการลดความลึกของการตกตะกอน ประหยัดค่าก่อสร้าง
โดยถังตกตะกอนเก่าทั้งแบบกลม สี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือจัตุรัส สามารถติดตั้ง Tube Settler ได้โดยไม่ทำให้โครงสร้างถังเดิมเสียหาย เนื่องจาก Tube Settler มีน้ำหนักเบา สามารถเพิ่มประสิทธิภาพระบบตกตะกอนเดิมได้กว่า 20% โดยไม่ต้องเสียค่าก่อสร้างถังใหม่ ประหยัดงบประมาณการก่อสร้าง
การออกแบบถังตกตะกอน วิศวกรของเราพร้อมที่จะให้คำปรึกษาฟรี เพื่อให้ท่านได้ถังตกตะกอนที่เหมาะสม ถูกหลักทางวิศวกรรม